การพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรไปสู่ประเทศจีน

สินค้าเกษตร (กสิกรรม ประมง และปศุสัตว์) เป็นสินค้าที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งในด้านการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก เป็นการสร้างอาชีพหลักและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย อีกทั้ง ยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคอุปโภค และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปต่างๆ ซึ่งในแต่ละปีการส่งออกสินค้าเกษตร สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมาก โดยในปี พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร 300,529.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.4% ซึ่งการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มีสัดส่วน 17.36% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย คิดเป็นมูลค่า 52,185.0 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำสถิติมูลค่าส่งออกแตะ 52,185.0 ล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรก  ขยายตัวที่ 6.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการส่งออกสินค้าเกษตร (สินค้ากสิกรรม สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าประมง) มูลค่ารวม 28,827.3 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวที่ 7.5%  ขยายตัวต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2564 – 2567 (สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, 2567)

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2568

          สินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง 2) ข้าว 3) ยางพารา 4) ไก่ และ 5) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

          สำหรับตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.จีน 10,054.7 ล้านดอลลาร์  2. ญี่ปุ่น 3,471.9 ล้านดอลลาร์  3. สหรัฐอเมริกา 1,899.7 ล้านดอลลาร์  4. มาเลเซีย 1,215.4 ล้านดอลลาร์และ 5. อินโดนีเซีย 1,154.8 ล้านดอลลาร์ รวม 5 อันดับแรก มีสัดส่วน 61.73% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด (สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, 2567) จะเห็นได้ว่าประเทศจีนยังคงเป็นตลาดหลักในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย เนื่องจาก จีนมีประชากรจำนวนมาก ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารและผลไม้สูงขึ้นทุกปี ผู้บริโภคชาวจีนนิยมบริโภคผลไม้เมืองร้อน โดยเฉพาะทุเรียนที่ถือว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้” แต่จีนมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศในการปลูกผลไม้เมืองร้อน  การนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยจึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่า ประกอบกับสินค้าเกษตรไทยมีคุณภาพมาตรฐานรองรับ ทั้งในกระบวนการผลิตและการเก็บเกี่ยว ทำให้สินค้ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และจากความร่วมมือข้อตกลงทางการค้า หรือ FTA (Free Trade Agreement) เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียนจีน (ACFTA) และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP และ ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน ช่วยลดภาษีนำเข้าทำให้ต้นทุนลดลง นอกจากนี้ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าเกษตรไทยไปจีนมีหลากหลายรูปแบบซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในการเลือกใช้รูปแบบการขนส่งที่เหมาะสมที่สุด คลอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

          อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศจีนยังมีความต้องการสินค้าเกษตรไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเกิดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายเล็ก หรือวิสาหกิจชุมชนที่สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้ แต่ไม่มีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดจีน เกิดจากการขาดองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ ขาดข้อมูลด้านพฤติกรรมผู้บริโภคจีน การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยังไม่เหมาะสมกับการส่งออก และไม่สามารถเข้าถึงช่องทางการขายในตลาดจีนได้เนื่องจากขาดเครือข่ายความร่วมมือ ดังนั้น ในการพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรไปสู่ประเทศจีน มีแนวปฏิบัติ ดังนี้

  1. การบริหารจัดการภายในของวิสาหกิจชุมชน โดยการรวมกลุ่มสมาชิกเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง การจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อวางแผนและประสานงานด้านการผลิต การตลาด และการส่งออก สมาชิกควรพัฒนาองค์ความรู้ด้านการส่งออก การตลาดระหว่างประเทศ และการใช้ภาษาต่างประเทศในการสื่อสาร นอกจากนี้ควรวางแผนการผลิต การปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาลเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือน
  2. พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า และศึกษากฎระเบียบเกี่ยวกับขั้นตอนการส่งออกสินค้าไปประเทศจีน การรับรองคุณภาพสินค้า เช่น มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate; PC) ใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate; HC) ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของสินค้า นอกจากนี้ศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันมาตรการกีดกันทางการค้าของจีน การศึกษาเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการวางแผนการขนส่งให้เหมาะสมกับอายุสินค้า และสภาพภูมิอากาศ
  3. การตลาดและการเข้าถึงผู้บริโภคจีน มุ่งเน้นการพัฒนาส่วนประสมทางการตลาด ด้านสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีน เช่น คุณภาพมาตรฐาน การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สื่อสารคุณค่าเชิงวัฒนธรรม เช่น “ผลไม้มงคล” หรือ “ผลไม้เพื่อสุขภาพ”เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดจีน เนื่องจากในปัจจุบันจีนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายและการส่งเสริมการตลาด เช่น การเผยแพร่สินค้าผ่านแพลตฟอร์มยอดนิยม เช่น WeChat, TikTok (Douyin), Xiaohongshu โดยใช้คอนเทนต์สื่อถึงคุณภาพและเรื่องราวของสินค้า ร่วมมือกับ KOLs และ Influencers: จัดกิจกรรมรีวิวสินค้า หรือไลฟ์ขายสดเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศจีน เพื่อสร้างโอกาสในการเจรจาการค้า การสร้างเครือข่าย และการสร้างการรับรู้ของสินค้า
  4. การสร้างเครือข่ายและพันธมิตร ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันการเงิน มหาวิทยาลัย วิสาหกิจชุมชนอื่น ตลอดจน การร่วมมือกับ Trader/Distributor ที่มีประสบการณ์ในประเทศจีนเพื่อช่วยจัดการส่งออกและขยายช่องทางการจัดจำหน่าย

นอกจากปัจจัยข้างต้นของวิสาหกิจชุมชนแล้ว นโยบายต่างๆ จากภาครัฐฯ ล้วนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและการเตรียมความพร้อมในการส่งออกไปสู่จีน โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้

  1. ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศและทักษะที่จำเป็นให้แก่วิสาหกิจชุมชนฯ อย่างต่อเนื่อง เช่น การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ มาตรการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน การจัดทำเอกสารการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจน การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในการดำเนินงาน
  2. จัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง สำหรับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ
  3. การติดตามผลและประเมินอย่างเป็นระบบ โดยการออกแบบระบบติดตามผลการสนับสนุน และประเมินความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปรับนโยบายให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ควรเปิดพื้นที่รับฟังเสียงจากชุมชน เพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการจริงในการดำเนินธุรกิจส่งออก

ภาพ: การพัฒนาศักยภาพการส่งออกสินค้าเกษตรของวิสาหกิจชุมชนไทยไปจีน

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าสินค้าเกษตรไทยยังคงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน แต่ปัจจุบันจีนยังขยายนโยบายในการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ การกำหนดส่วนประสมทางการตลาดและวางแผนกลุยุทธ์การส่งออกให้เหมาะสม เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดจีนอย่างยั่งยืน

เรียบเรียงโดย อาจารย์ สุภาวดี คุ้มราษฎร์